Select Page

เมื่อวันพุธที่ 17 มีนาคม 2564 ทางสถาบันพัฒนาบุคลากรแห่งอนาคตได้จัดงานสัมมนาออนไลน์ “Thai Microelectronic Seminar 2021 (TMS2021)” ภายใต้หัวข้อ “Smart Electronics, A Leap for Thailand’s Future” ผ่านระบบ Webex Event โดยมีผู้เข้าร่วมงานสัมมนาทั้งสิ้น 102 ท่าน

โดยสัมมนาได้แบ่งออกเป็น 2 Session ได้แก่

  • Session 1: Smart Electronics, A Leap for Thailand’s Future
  • Session 2: งานวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมต้นน้ำของ Smart Electronics

Session 1: Smart Electronics, A Leap for Thailand’s Future
เปิดมุมมองความท้าทายประเทศไทยกับการพัฒนาอุตสาหกรรม Smart Electronics ในเสวนา Smart Electronics, A Leap for Thailand’s Future

ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC) จัดสัมมนาออนไลน์ “Thai Microelectronics Seminar 2021” ภายใต้โครงการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมการออกแบบวงจรรวมเพื่อสร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมจากทั้งภาคเอกชน ภาคการศึกษาและภาครัฐ ร่วมขับเคลื่อนไมโครอิเล็กทรอนิกส์และการออกแบบวงจรรวม นำประเทศไปสู่ Thailand 4.0 ภายใต้หัวข้อ “Smart Electronics, A Leap for Thailand’s Future” เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564

ดร.นิภาพรรณ กลั่นเงิน หัวหน้าโครงการพัฒนาบุคลากรสําหรับอุตสาหกรรมการออกแบบวงจรรวม ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC) กล่าวถึงความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ว่า

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หรือ Smart Electronics เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เดิมอุตสาหกรรมดังกล่าวในประเทศไทยมีการลงทุนในด้านการผลิตแบบ Mass Production ที่อยู่ภายใต้เครือข่ายการผลิตของบริษัทแม่ในต่างชาติ มากกว่าการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์

ถึงแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาได้มีการเพิ่มศักยภาพด้านการออกแบบเพื่อยกระดับการผลิตจากการผลิตตามแบบ OEM (Original Equipment Manufacturing) มาเป็นผู้ผลิตที่มีการออกแบบและพัฒนาสินค้าได้ด้วยตนเอง ODM (Original Design Manufacturing) มากขึ้น อีกทั้งบริษัทร่วมทุนกับต่างประเทศได้เพิ่มส่วนงานการออกแบบผลิตภัณฑ์มาอยู่ในประเทศ แต่ก็ยังไม่สามารถพัฒนาประเทศให้ก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ได้

ดังนั้น การพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จึงควรมุ่งเน้นไปที่การสร้างอุตสาหกรรมบนเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-based Economy) ที่ให้ความสำคัญกับการประยุกต์ใช้การวิจัยพัฒนา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ให้เป็น Smart Electronics ซึ่งอุตสาหกรรมต้นน้ำที่เป็นอุตสาหกรรมไมโครอิเล็กทรอนิกส์ อันได้แก่ การออกแบบวงจรรวม (IC Design) การผลิตวงจรรวม (IC Fabrication) และการบรรจุภัณฑ์วงจรรวม (IC Packaging) จึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างนวัตกรรม สร้างงานและรายได้ ที่จะส่งผลดีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตได้อย่างเข้มแข็งยั่งยืน

 

งานสัมมนาในครั้งนี้จึงเป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ด้าน Smart Electronics ประชาสัมพันธ์อุตสาหกรรมไมโครอิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ออกแบบ ผู้ผลิต ผู้ประยุกต์ใช้งานชิป และผู้ที่อยู่ใน Value Chain ของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มาร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไปสู่ Smart Electronics

Smart Electronics ไทย ไร้ Ecosystem ?

ก่อนเข้าสู่ช่วงเสวนาฯ ดร.วุฒินันท์ เจียมศักดิ์ศิริ ผู้อํานวยการศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC) ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “Strengthening the Smart Electronics Ecosystem” อย่างไรก็ตามสำหรับมุมมองของดร.วุฒินันท์นั้น ก่อนจะสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนิเวศของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ต้องสร้างระบบนิเวศดังกล่าวให้เกิดขึ้นจริงก่อน “เพราะ Smart Electronics Ecosystem ในเมืองไทยมันยังไม่มีจริง ๆ”

ดร.วุฒินันท์ ได้ยกตัวอย่างระบบนิเวศของการสร้างผลิตภัณฑ์จากเซนเซอร์มูลค่าสูง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มี One Stop Service ของ Value Chain ในการสร้างผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ตั้งแต่การออกแบบเซนเซอร์ การทำบรรจุภัณฑ์ การสร้างวงจรที่เหมาะสม การสร้างมาตรฐาน การออกแบบ Display ของผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน เป็นต้น

ดังนั้น TMEC จึงพยายามผลักดันระบบนิเวศของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ จากการแสวงหาพันธมิตรต่างประเทศเพื่อร่วมโครงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เรียนรู้ความสำคัญของกระบวนการสร้างผลิตภัณฑ์จากเซนเซอร์มูลค่าสูงในทุก ๆ Value Chain และถ่ายทอดให้กับพันธมิตรภายในประเทศได้พัฒนาความสามารถ นำไปสู่การสร้างสินค้าจากเซนเซอร์มูลค่าสูงทุกกระบวนการได้ภายในประเทศได้

“อย่างไรก็ตาม บางกระบวนการอาจไม่จำเป็นต้องทำในประเทศก็ได้หากมูลค่าไม่สูง เราพยายามดึงงานที่มูลค่าสูงเข้ามาทำในประเทศไทย และคิดว่าเป็นกลยุทธ์ที่จะสร้างระบบนิเวศนี้ได้จริง ๆ โดยการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนิเวศของ Smart Electronics นั้น คือ การเพิ่มการออกแบบ หรือ แนวคิดใหม่ ๆ ให้กับสินค้า กล่าวคือ การพัฒนาแก้ไขจุดบกพร่องของสินค้าในแต่ละเวอร์ชันให้ตอบโจทย์และเข้าใจตลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ” ดร.วุฒินันท์ อธิบาย

ด้วยแรงบันดาลใจของ TMEC ที่ต้องการเห็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยเกิดการกระจายรายได้แก่คนในประเทศอย่างแท้จริงจากการสร้างระบบนิเวศเหล่านี้ ดังนั้น นอกเหนือจากการเป็นผู้ผลิต Sensor Wafer รายเดียวของประเทศให้กับต่างชาติแล้ว TMEC จึงพยายามนำเซนเซอร์ที่มีประโยชน์ มีผู้ผลิตน้อย และมีโอกาสเติบโตสูง ผลักดันไปสู่สินค้าปลายทางในลักษณะของธุรกิจ B2C

โดยระบบนิเวศของ Smart Electronics จะช่วยให้มูลค่ารวมของสินค้าเพิ่มขึ้นหลายเท่า ดร.วุฒินันท์ ยกตัวอย่างกรณีของเซนเซอร์ว่า หากขายเซนเซอร์เปล่า ๆ สนนราคาตัวละไม่เกินหลักสิบถึงร้อยบาท แต่เมื่อรวบรวมผู้เล่นใน Value Chain มาผลิตเป็นสินค้า ซึ่งมีราคาในตลาดประมาณหนึ่งหมื่นห้าพันบาทถึงสองหมื่นบาท จะเห็นได้ว่ามูลค่าของสินค้าเพิ่มขึ้นหลายร้อยเท่า ในขณะเดียวกันยังก่อให้เกิดการกระจายรายได้จากมูลค่าของสินค้าที่เพิ่มขึ้นไปยังผู้เล่นใน Value Chain ของอุตสาหกรรมอีกด้วย

เสวนา Smart Electronics, A Leap for Thailand’s Future

การเสวนา Smart Electronics, A Leap for Thailand’s Future ได้รับเกียรติจากตัวแทนทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาได้มาร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนมุมมอง และความคิดเห็นร่วมกันเกี่ยวกับ Smart Electronics ก้าวสำคัญในการพัฒนาประเทศ

นำโดย นางสาวพะเยาว์ คำมุข รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นายณรัฐ รุจิรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ  ดร.เฉลิมศักดิ์ สุมิตไพบูลย์ ที่ปรึกษาส่วนงานวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือดร.บดินทร์ เกษมเศรษฐ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) และร่วมดำเนินรายการโดย ดร.อมร จิระเสรีอมรกุล Principle Research Engineer  บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน)

Smart Electronics หนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายและท้าทายของประเทศ

Smart Electronics เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยที่ภาครัฐให้ความสำคัญ โดยบทบาทของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ที่เป็นผู้เสนอแนะนโยบายด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม จัดทำแผนภาพอุตสาหกรรมของประเทศ วิเคราะห์และคาดการณ์แนวโน้มการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม รวมทั้งจัดทำดัชนีอุตสาหกรรม สำหรับด้าน Smart Electronics นั้น สศอ.ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายสำคัญเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำร่างยุทธศาสตร์แผนปฏิบัติการด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนต่อไป

คุณพะเยาว์ คำมุข รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า “อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะเป็นพื้นฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมในทุก ๆ S-Curve ด้วยการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และ IoT เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความต้องการอุปกรณ์อัจฉริยะเพิ่มมากขึ้น ทั้งในด้านอุตสาหกรรมการผลิต การเกษตร การแพทย์ การบริการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน”

อย่างไรก็ตาม คุณพะเยาว์ได้ตั้งข้อสังเกตถึงมูลค่าการส่งออกและนำเข้าสินค้าด้านอิเล็กทรอนิกส์ของไทยในช่วงปี 2559-2564 นั้นมีมูลค่าใกล้เคียงกัน โดยมีอัตราการเติบโตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2-3 ต่อปี ดังนั้น การพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไปสู่อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะจึงเป็นโจทย์ท้าทายของประเทศ

ดังนั้น สศอ. จึงได้จัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2564-2570) ตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้กำหนดให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญ เพื่อยกระดับประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตอุปกรณ์ และระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในอาเซียน และมีเทคโนโลยีเป็นของตนเองภายในปี 2570 โดยมีเป้าหมาย 3 กลุ่ม คือ Smart Home, Smart Factory และ Smart Farm (ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/925990)

Smart and Connected System  โอกาสพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

การพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไปสู่อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในมุมมองของผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นสถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม หนึ่งในหน่วยงานที่ดำเนินการในร่างยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรม โดย คุณณรัฐ รุจิรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เล่าว่า ถ้าเราต้องการเพิ่มมูลค่าการผลิตและส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เราจะต้องยกระดับจากสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในเทคโนโลยีเดิม ไม่ว่าจะเป็น วงจรรวม (IC) แผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ให้ไปเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโทรคมนาคม หรือเทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น

คุณณรัฐ เสนอว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวต้องมองทั้งฝั่ง Demand และ Supply จะเห็นได้ว่า การเติบโตของระบบอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยี IoT ทำให้เกิดโอกาสการพัฒนาสู่ Smart Electronics ในอีกรูปแบบหนึ่ง คือ การนำเทคโนโลยีกลุ่ม Smart and Connected Systemไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ยกตัวอย่างปรากฏการที่เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สามารถสื่อสารกันได้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นเทรนด์ของอุตสาหกรรมไฟฟ้าในปัจจุบันที่อุตสาหกรรมเดิมต้องรับมาปรับตัว

อย่างไรก็ตามการที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไปสู่ความสมาร์ต สำหรับกลุ่มบริษัท SME ไทยอาจมีข้อจำกัด เพราะไม่มีส่วนวิจัยและพัฒนา (R&D) เป็นของตัวเองเหมือนบริษัทขนาดใหญ่ จึงเกิดกลุ่มผู้ประกอบการใหม่ที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุน SME ไทยให้มีการปรับใช้ Smart Electronics มากขึ้น คือ System Integrator (SI) และ System Developer (SD)

โดยคุณณรัฐได้กล่าวถึงบทบาทของสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่จะมาตอบโจทย์ Pain Point ของระบบนิเวศอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะว่า Smart Electronics ไม่ใช่ศาสตร์ด้านเดียว มีทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และแอปพลิเคชัน ดังนั้นการหาผู้ผลิตหรือนักพัฒนาที่มีองค์ความรู้ในทุก ๆ ด้านค่อนข้างยาก ทำให้จำเป็นต้องใช้ผู้ผลิตจากต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินของนักพัฒนาด้วย ดังนั้นในปี 2565 สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จึงมีแผนในการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางของประเทศเพื่อให้ผู้เล่นส่วนต่าง ๆ ใน Value Chain ของ Smart Electronics ได้ร่วมแลกเปลี่ยนและแก้ไข Pain Point ของแต่ละส่วน

“สิ่งที่ผมอยากเห็นต่อจากนี้ คือ การทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ในการบูรณาการมุมมองทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรม ร่วมแลกเปลี่ยน Pain Point และร่วมแก้ไขไปพร้อมกัน” คุณณรัฐ กล่าวเสริม

เงินทุนด้านการวิจัยและพัฒนากับการก้าวสู่ Smart Electronics

อุปสรรคในการก้าวไปสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของไทยในมุมมองของ ดร.บดินทร์ เกษมเศรษฐ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ที่เชื่อว่าเทคโนโลยีไมโครชิปที่ผลิตโดยคนไทย สามารถพัฒนาต่อยอดไปทำตลาดได้ทั่วโลก นั้น กล่าวว่า “เงินทุนด้านการวิจัยและพัฒนา เป็นอุปสรรคในการก้าวสู่ Smart Electronics”

ด้วยการไปสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หรือ Smart Device ต่าง ๆ ต้องใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีหลายด้าน จึงจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนในส่วนการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเงินทุนดังกล่าวเป็นสัดส่วนเดียวกับรายได้ ถ้ามีรายได้สูง โอกาสในการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาจะสูงตามไปด้วย ฉะนั้นส่วนหนึ่งที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะจะสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ คือ เงินสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาจากภาครัฐ

“การสร้างชิปหนึ่งชิ้นของเรา ต้องใช้เงินลงทุนอย่างต่ำประมาณ 60 ล้านบาท ดังนั้น ถ้าเราขอทุนจากรัฐบาลแล้วได้รับปีสองล้านไปจนถึงสิบล้านบาท คำถาม คือ เราต้องใช้เวลาในการผลิตจากเงินทุนที่เราได้มาจำนวนกี่ปี ซึ่งวงจรการผลิตไมโครชิป (Life Cycle) ถ้าจะแข่งขันให้ในตลาดได้จะต้องใช้เวลาไม่เกิน 3 ปี” ดร.บดินทร์ กล่าว

โลกอิเล็กทรอนิกส์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเป็นสิ่งที่ท้าทายว่าจะสามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศอย่างไรให้เท่าทันสากล เดิมเรามักมองบริบทของเมืองไทยเท่านั้น เราไม่ค่อยบริบทของการส่งผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดต่างประเทศโดย ดังนั้น ดร.บดินทร์ ได้เสนอปัจจัยการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ให้ก้าวไปข้างหน้าใน 2 ประเด็น

ประเด็นแรก เงินทุนหรือฐานสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาจากภาครัฐซึ่งควรจะเพิ่มขึ้นและชัดเจนตั้งแต่ต้นทางแทนที่จะเป็นการลดหย่อนภาษี โดยเงินทุนเหล่านี้นอกจากเกิดประโยชน์ด้านการวิจัยและพัฒนาแล้ว ยังช่วยเพิ่มอัตราความต้องการทางการตลาดของตำแหน่งงานด้านอุตสาหกรรม ส่งผลให้ภาคการศึกษามีโอกาสในการผลิตและพัฒนาบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น

ประเด็นถัดมา คือ การเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต เน้นสนับสนุนการพัฒนาฮาร์ดแวร์ให้มากขึ้น  “เพราะถ้าไม่มีฮาร์ดแวร์ก็จะไม่เกิดซอฟต์แวร์ หรือต้องพัฒนาซอฟต์แวร์บนพื้นฐานของต่างประเทศ เราจะกลายเป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ แทนที่เราจะเป็นผู้พัฒนา System หรือ Electronics solution จริง ๆ” ดร.บดินทร์กล่าว

พลิกบทบาทหน่วยวิจัยต้นน้ำ ร่วมผลักดัน Ecosystem

ด้วยวิสัยทัศน์ของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค ที่มุ่งสร้างฐานรากด้านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศขั้นสูงของประเทศ ดังนั้น บทบาทของเนคเทค สวทช จึงไม่ได้จำกัดอยู่ที่งานวิจัยต้นน้ำ แต่ร่วมสร้างและแสวงหาระบบนิเวศ ของงานวิจัยนั้น ๆ ด้วย

ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวว่า เนคเทค สวทช. ต้องการจะสร้างเทคโนโลยีที่จะเป็นฐานราก เป็นแพลตฟอร์มไปสู่การพัฒนาและต่อยอดนวัตกรรมต่อไป อย่างไรก็ตาม พันธกิจที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ เราจะแสวงหาความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อผลักดันระบบนิเวศของงานวิจัยให้เกิดขึ้น

“เราค้นพบว่าการทำวิจัยอย่างเดียวสุดท้ายจะไปจบอยู่บนหิ้ง ฉะนั้นการที่จะทำให้งานวิจัยไม่ขึ้นหิ้งนั้น จำเป็นจะต้องสร้างระบบนิเวศ ปัจจุบันเนคเทค สวทช.เราทำงานวิจัยพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำและอาจไปถึงปลายน้ำในการสร้างตลาดด้วย”

ยกตัวอย่าง ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ หรือ TMEC เดิมเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้เนคเทค สวทช. ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติจัดตั้งเป็นศูนย์กลางของงานวิจัยและพัฒนาด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์และโรงงานผลิตวงจรรวมแห่งแรกของประเทศไทย ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะบริบทของการวิจัยเท่านั้น แต่สามารถให้บริการหน่วยงานทั้งภายในและต่างประเทศในกระบวนการผลิตเซนเซอร์ วงจรรวมต้นแบบ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากรสนับสนุนการยกระดับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยให้ทัดเทียมสากล และเป็นรากฐานในการพัฒนาสู่นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ในอนาคต

ในมุมมองด้านการวิจัย ดร.พนิตา ได้กล่าวถึง การเปิดตัว NETPIE (Network Platform for Internet of Everything) แพลตฟอร์มไอโอทีสัญชาติไทย ในปี 2558 เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สู่ความสมาร์ต และเป็นตัวอย่างงานวิจัยต้นน้ำที่อาศัยระยะเวลากว่า 5 ปีค่อย ๆ เติบโตขึ้นในบริบทของการวิจัยพัฒนา สู่การใช้งานเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ โดยส่วนหนึ่งของทีมวิจัยและพัฒนาได้ก้าวออกจากเนคเทค สวทช. และร่วมกันก่อตั้งบริษัทเอกชนขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการในระยะยาว พร้อมตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาประเทศอย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยล่าสุดได้เปิดตัว NETPIE 2020 เมื่อปีที่ผ่านมา

“ดังนั้น การทำวิจัยในปัจจุบัน นักวิจัยจะต้องคิดมากกว่าการทำของหนึ่งชิ้น แต่ต้องคิดไปถึงกระบวนการขยายผลงานวิจัยสู่การผลิต หรือ ใช้งานจริงในวงกว้าง เพื่อขยับเข้าใกล้ผู้ใช้งานให้ได้มากที่สุด” ดร.พนิตา กล่าวเสริม

สำหรับด้านอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ปัจจุบันเนคเทค สวทช. มุ่งไปในบริบทของ Smart Factory โดยการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน หรือ SMC (Sustainable Manufacturing Center)ในเมืองนวัตกรรม ARIPOLIS ภายใต้เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi เพื่อตอบโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้ภาคอุตสาหกรรมเริ่มต้นปรับตัวนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีดิจิทัล ไอโอทีด้านอุตสาหกรรม (Industrai IoT) เซนเซอร์ด้านอุตสาหกรรม หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เป็นต้น

โดยเนคเทค สวทช. เริ่มต้นนำความต้องการจากภาครัฐที่โรงงานควบคุมและอาคารควบคุมต้องส่งข้อมูลการใช้พลังงานและการอนุรักษ์พลังงานไปยังกรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานทุกปี โดยสร้าง Low-cost solution ด้านการบริหารจัดการพลังงานสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม นำร่องติดตั้งแพลตฟอร์ม IDA ใน 15 โรงงานในปี 2564 โดยใช้เซนเซอร์ ไอโอที และการทำ Data Analytics เพื่อลดขั้นตอนในการทำรายงานข้อมูลดังกล่าวของโรงงาน

“แพลตฟอร์ม IDA จะเป็นจุดเริ่มต้นให้โรงงานได้มีประสบการณ์ในการใช้ Smart Electronics ผลักดันให้เปิดใจยอมรับการใช้เทคโนโลยี และขยายผลต่อไปในการตรวจวัดอื่น ๆ ภายในโรงงาน” ดร.พนิตา อธิบาย

นอกจากนี้ บริการใน SMC ยังสนับสนุนการปรับตัวจากอุตสาหกรรม 2.0 สู่ 4.0 รวมไปถึงผลักดันระบบนิเวศอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เริ่มต้นตั้งแต่การประเมินความพร้อมและวิเคราะห์ปัญหาของโรงงาน การพัฒนากำลังคน การให้คำปรึกษาเพื่อเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม การวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับปัญหาโดยเฉพาะ รวมไปถึงบริการทดสอบเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี (Testbed) เพื่อให้นักพัฒนาระบบ (System Integrator: SI) สามารถทดสอบระบบของตนเอง และทำ Proof of Concept ได้โดยไม่แทรกแซงกระบวนการผลิตจริง

“คนอิเล็กทรอนิกส์ขาดแคลน” รัฐ เอกชน การศึกษาต้องร่วมสร้างหลักสูตร

ภาคการศึกษาเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาบุคคลากรเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดย ดร.เฉลิมศักดิ์ สุมิตไพบูลย์ ที่ปรึกษาส่วนงานวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เล่าว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้วบริษัทประสบปัญหาขาดแคลนวิศวกร และนักเทคนิค ในขณะเดียวกันเมื่อมีนักศึกษามาสมัคร ต้องใช้ระยะเวลาถึงหลักปีในการสอนงาน นำไปสู่การสร้างหลักสูตร “IC Packaging” เพื่อผลิตบุคคลากรด้านวิศวกรรมเข้าไปทำงานในเซมิคอนดักเตอร์โดยตรง

“ณ ปัจจุบันนี้หลักสูตรดังกล่าวยังไม่สามารถผลิตนักศึกษาที่เพียงพอต่อโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ ซึ่งทราบว่ามีประมาณ 24-25 โรงงาน ดังนั้นเราจึงเริ่มต้นทำ MOU กับบริษัทเอกชน”

อย่างไรก็ตาม ดร.เฉลิมศักดิ์ ให้ความเห็นว่า เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะใกล้ตัวเรามาก โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ทุกอย่างรอบตัวต้องพึ่งพาอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วงจรรวม ซึ่งเป็นหัวใจในการพัฒนาเทคโนโลยี ดังนั้น ประเทศไทยควรจะมีเทคโนโลยีที่เป็นหลักในการพัฒนาประเทศ

“นโยบายตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้ภาคการศึกษาผลิตนักศึกษาให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมหรือความต้องการของประเทศที่มุ่งไป  ผมว่าเราต้องจับมือร่วมกัน 3 ฝ่าย ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ และภาคการศึกษาของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทำอย่างไรเราจึงจะสร้างหลักสูตรร่วมกันได้จริง ๆ”

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือพัฒนานักศึกษาตอบโจทย์อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ใน 4 ด้านหลัก ๆ ได้แก่

  1. การผลิตบุคคลากรด้านวิศวกรรมเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตวงจรรวม
  2. การผลิตบุคคลากรในการจำลองสร้างห้องปฏิบัติการ ห้องผ่าตัด ในโรงพยาบาล
  3. โครงการสหกิจศึกษา โดยนักศึกษาปีสุดท้ายจะต้องปฏิบัติงานจริงในโรงงานเป็นระยะเวลา 1 เทอม
  4. โครงการ Work Integrated learning (WIL) โดยส่งนักศึกษาปีสุดท้ายไปทำงานในโรงงานจริง และสามารถทำงานต่อให้กับภาคอุตสาหกรรมนั้น ๆ ได้ทันที

เวทีเสวนานี้ทำให้เราได้เห็นทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของประเทศ จากการแลกเปลี่ยนมุมมองทั้งจุดแข็ง จุดอ่อน ของอุตสาหกรรมฯ นำไปสู่โอกาสในการบูรณาการการทำงานระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของไทยต่อไป

(ที่มา : บทสรุปงานเสวนาจาก ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC))

Session 2: งานวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมต้นน้ำของ Smart Electronics

โดยได้แบ่งงานวิจัยพัฒนาเป็น 3 ด้าน 7 งานวิจัย ดังนี้

  • IC Design
    • Design of A Low-Power ECG Recording Frontend for Two-Electrode Applications
    • A High-Efficiency Low-Ripple Step-Down Converter for IoT and Biomedical Devices
    • Single-Phase PLL-Based BPSK/QPSK Demodulator in 180-nm CMOS Technology for IoT Applications
    • Generalized PLL-Based m-PSK Demodulators in 180-nm CMOS Technology for Wireless Digital Communications
    • A FSK/FSK direct conversion demodulator in 180-nm CMOS Technology for IoT Applications
  • Sensor Platform Technology
    • ISFET Platform for Chemical and Biological Sensor Development
  • IC Packaging
    • Integrated Circuit (IC) Package with No Delamination for Automotive Device

ภาพบรรยากาศการจัดสัมมนา ออนไลน์